โครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหา
และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility)


ความเป็นมา

รัฐบาลมีนโยบายการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพเยาวชนและบุคลากร โดยการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการภาคเอกชน (Talent Mobility) เนื่องจากในปัจจุบันมีบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้ความสามารถในสังกัดเป็นจำนวนมาก และการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม จะเปิดโอกาสและสนับสนุนให้คณาจารย์ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการนำความรู้ความสามารถไปใช้ได้จริง ขณะเดียวกัน คณาจารย์ก็จะได้เข้าใจโจทย์จริงที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ในทางกลับกันก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่อยู่ในภาคเอกชนได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะการถ่ายทอดประสบการณ์ จากการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

การดำเนินการ

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยคณะกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัย 2) การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรวิจัยก่อนไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชน และ 3) การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ของสถาบันอุดมศึกษา โดยมีผลการดำเนินการ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2559) ดังนี้

  1. การจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัย

    ได้ดำเนินการประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัย Talent Mobility ประจำปี 2560 จำนวน 5 รอบ โดยมีผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2559) ดังตาราง

    รอบที่ จำนวนโครงการที่
    ผ่านการคัดเลือก
    จำนวนโครงการ ที่คณะกรรมการฯ
    เห็นควรแจ้งให้ปรับปรุง
    ข้อเสนอโครงการ
    จำนวนโครงการที่
    ไม่ผ่านการคัดเลือก
    รวม
    1 2 4 2 8
    2 5 2 3 10
    3 7 2 1 10
    4 19 4 2 25
    5 20 30 27 77
  2. การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรวิจัยก่อนไปปฏิบัติร่วมกับภาคเอกชน

    ได้ดำเนินการเปิดรับหน่วยการฝึกอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2559 เพื่อให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีแนวทางในการฝึกอบรม ดังนี้

    1. การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาอาจารย์/นักวิจัยก่อนไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชน
    2. การเตรียมความพร้อมบุคลากรที่ปฏิบัติงานสนับสนุนการดำเนินการโครงการ เช่น การจัดการงานด้านการงบประมาณการจัดการงานด้านธุรการ เป็นต้น
    3. การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (IP/TLO)
    4. การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี (translational research)

    ลำดับ ชื่อหน่วยงาน สถาบันต้นสังกัด
    1 ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    2 สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    3 Talent Management Strengthening Unit มหาวิทยาลัยมหิดล
    4 อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    5 เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
    6 โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
    7 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
    8 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
    9 สำนักงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  3. การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ของสถาบันอุดมศึกษา

    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา และพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้นในฐานะนักวิจัยอาชีพและสามารถนำองค์ความรู้ใหม่จากการทำงานมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา

ผลที่ได้รับ (Output) ของโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility)

จากการดำเนินการโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อ แก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ที่กำหนดกิจกรรม การดำเนินการ จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่

  1. การจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาออกไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
  2. การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรวิจัยก่อนไปปฏิบัติร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
  3. การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ของสถาบันอุดมศึกษา นั้น

จากการดำเนินการโครงการฯ ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการ (Output) ของโครงการสรุปได้ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559)

ผลที่ได้รับ (output) จำนวน
1. ได้ส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาออกไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม 83 คน
2. ได้หน่วยฝึกอบรมการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรวิจัยก่อนไปปฏิบัติร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตรการเตรียมความพร้อมฯ ได้แก่
  1. การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาอาจารย์/นักวิจัยก่อนไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชน
  2. การเตรียมความพร้อมบุคลากรที่ปฏิบัติงานสนับสนุนการดำเนินการโครงการ เช่น การจัด การงานด้านการงบประมาณ การจัดการงานด้านธุรการ เป็นต้น
  3. การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (IP/TLO)
  4. การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี (translational research)
9 แห่ง
3. ได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ของสถาบัน อุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการ อำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงการ Talent Mobility 12 สถาบัน